Wednesday, October 17, 2012

ชิ ง เ ป ร ต 2

ชิ ง เ ป ร ต




"ชิงเปรต"
 เป็นประเพณีของภาคใต้  
โดยเฉพาะที่จังหวัดนครศรีธรรมราช
ที่กระทำกันในวันสารท เดือน ๑๐
เป็นประเพณีสำคัญ ที่จัดขึ้นเพื่อทำบุญอุทิศแก่บรรพบุรุษผู้ล่วงลับไปแล้ว
 การชิงเปรต คือการทิ้งทานอุทิศส่วนกุศลไปให้ทั้งผี ทั้งเปรต ทั้งที่มีญาติ
และไม่มีญาติ


คนเฒ่า คนแก่ หลายคนได้ยืนยันว่าการชิงเปรตไม่เป็นความอัปมงคล
แก่ผู้ชิงเปรตแต่ อย่างใด ในทางตรงกันข้ามกลับถือว่าเป็นการทำบุญด้วยซ้ำไป
 เพราะชื่อว่าบุตรหลานของเปรตตนใดชิงได้ เปรตตนนั้นย่อมได้รับบุญส่วนนั้นด้วย
การชิงเปรต จะกระทำกันในวันที่ยกของที่จะทำยุญไปวัด
ในวันแรม ๑ ค่ำ หรือ แรม ๑๕ ค่ำ เดือนสิบ
อาหารที่ใช้นี้ส่วนมากเป็นอาหารที่บรรพบุรุษเคยชอบ
อย่างละนิด อย่างละหน่อย ขนมที่ขาดไม่ได้คือ
ขนมลา ขนมพอง ขนมบ้า ขนมดีซำ

 นอกจากขนมดังกล่าวแล้ว ยังมีของแห้งที่ใช้เป็นเสบียงกรัง
ก็จัดฝากไปด้วย เช่น ข้าวสาร หอม กระเทียม พริก เกลือ กะปิ น้ำตาล น้ำปลา
กล้วย อ้อย มะพร้าว ด้าย เข็มเย็บผ้า ธูปเทียน นำลงจัดในส่วนที่จะเอาไปทำบุญ
โดยเอาของแห้งรองก้นและอยู่ภายใน ส่วนขนมทั้งหลายอยู่ชั้นนอก
ปิดคลุมด้วยผืนขนมลา ทำเป็นรูปเจดีย์ยอดแหลม หรือรูปอื่นในถาด
แล้วแต่การประดิษฐ์ของผู้จัด ส่วนภาชนะที่ใช้

 แต่เดิมนิยมใช้กระเชอหรือถาด นำข้าวของที่จัดแล้วไปวัด
 รวมกันตั้งไว้บน "ร้านเปรต" ซึ่งสร้างไว้กลางวัดเป็นร้านยกเสาสูง
 บนร้านเปรตจะมีสายสิญจน์วงล้อมไว้รอบ และ ต่อยาวไปจนถึงพระสงฆ์
ที่นั่งอยู่ใน วิหารที่เป็นที่ทำพิธีกรรม
 โดยสวดบังสกุลอัฐิหรือกระดาษเขียนชื่อของผู้ตาย
ซึ่งบุตรหลานนำมารวมกันในพิธีหน้าพระสงฆ์
บุตรหลานจะกรวดน้ำอุทิศส่วนบุญไปยังเปรตชนที่เป็นบรรพบุรุษ
เมื่อเสร็จพิธีแล้ว เก็บสายสิญจน์ ขนมต่าง ๆ  เอาไว้ 2 ส่วน
 ส่วนหนึ่งนำไปถวายพระ   อีกส่วนหนึ่งไปวางไว้ให้เปรต
ในขณะเดียวกันผู้ที่มาร่วมทำบุญทั้ง หนุ่มสาว คนแก่ และเด็ก ๆ
จะเข้าไปแย่งขนมที่ตั้งให้เปรตด้วยความสนุกสนาน

เชื่อกันว่า การแย่งขนมเปรตที่ผ่านการทำพิธีแล้วนี้จะได้กุศลแรง
เป็นสิริมงคลแก่ตนเอง และ ครอบครัว และยังเชื่อกันต่อไปว่าขนมเหล่านี้
ถ้านำไปหว่านในสวนในนา จะทำให้พืชผลอุดมสมบูรณ์เพิ่มผลผลิตสูง
 โดยเฉพาะขนมเทียน บางแห่งนำไปติดไว้ตามต้นไม้ผล เพื่อให้มีผลดก
หลังจากนั้น ก็มักมีผู้ใจบุญโปรยทาน โดยใช้เหรียญสตางค์จำนวนมาก
 ไปยังฝูงชน ที่เรียกว่า "หว่านกำพรึก" แย่งกันอย่างนุกสนาน
ความหมายของขนม
๑. ขนมลา มีความหมายใช้แทนเสื้อผ้า
๒. ขนมพอง (กรุงเทพฯเรียกข้าวแต๋น)มีความหมายว่าเป็นเครื่องประดับ
๓. ขนมเบซำ (ขนมเจาะรูตรงกลาง) ใช้แทนเงิน หรือสตางค์มีรูในสมัยก่อน
๔. ขนมบ้า มีความหมายว่า เงินเหรียญ
๕. ขนมเทียน ใช้แทนหมอนหนุน
การ ชิงเปรต เป็นประเพณีที่ชาวนครศรีธรรมราช ถือปฏิบัติกันมาแต่โบราณ
 เป็นประเพณีสำคัญที่กระทำกันจนทุกวันนี้ ชาวนครศรีธรรมราชแม้จะไปอยู่ที่ไหน
เมื่อถึงเดือน ๑๐ ก็มักจะกลับมาร่วมพิธีกับญาติทางบ้าน
นับเป็นการช่วยเสริมสร้างการผูกพันระหว่างครอบครัวและญาติพี่น้อง
 ทั้งยังเป็นการระลึกถึงบุญคุณ และคุณงามความดีของบรรพบุรุษผู้ล่วงลับไปแล้วของตนด้วย
ถ้าถามว่า เปรตมีมากที่ไหนในกรุงเทพฯ 
เปรตที่กรุงเทพฯ ก็มีให้ดูเยอะแยะ   ก็รู้ๆ กันอยู่ว่า ที่ไหน
 อิอิอิ...(มีคนกระซิบ มาว่า มีมากที่รัฐสภาค่ะ 5555...น้องจ๋า ไม่ได้ว่าเอง น๊า)

0 comments:

Post a Comment